เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
4. สุนทริกภารทวาชสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล
สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กำลังประกอบพิธีบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นเสร็จสิ้นพิธีแล้วก็ลุกจากที่นั่ง เหลียวดูทิศทั้ง 4
โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครกันควรบริโภคเครื่องเซ่นที่เหลือนี้” พลันเหลือบไปเห็น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
จึงใช้มือซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก เพราะได้สดับเสียง
ฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวขึ้นว่า
“นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น” ตั้งใจจะหันหลังกลับจากที่นั้น แต่แล้วได้ฉุกคิดว่า
“อันที่จริง พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็หัวโล้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควร
เข้าไปถามชาติตระกูล” ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้กล่าวว่า “ท่านมีชาติกำเนิดอะไร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถา
ดังนี้ว่า
[458] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์
หรือคนวรรณะใดวรรณะหนึ่ง
เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนทั้งหลายแล้ว
ไม่มีความกังวล ประพฤติตนอยู่ในโลกด้วยปัญญา
[459] เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว
ควบคุมตน สงบระงับได้
ไม่คลุกคลีกับหมู่คน เที่ยวจาริกไปในโลก
การที่ท่านถามเราถึงโคตรวงศ์นั้นไม่สมควรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :604 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[460] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น
ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่
[461] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์
แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์
เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์1
ที่มี 3 บาท 24 พยางค์
[462] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
[463] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท
พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด
การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก
[464] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้
เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์
คนอื่น ๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น

เชิงอรรถ :
1 สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี
คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. 2/461/226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :605 }