เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ พูดเท็จ
ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด
[401] สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา
ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้
ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ ดื่ม
เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด
[402] เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้
ทั้งยังชักชวนคนอื่น ๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย
สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา
ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม
ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้
[403] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา
ควรงดเว้นจากเมถุนที่เป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่ควรบริโภคอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน
[404] ไม่ควรทัดทรงดอกไม้ ไม่ควรลูบไล้กายด้วยของหอม
ควรนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ที่ปูลาดไว้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 นี้แล
พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศไว้1
[405] และต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้มีใจเลื่อมใส
ควรเข้าจำอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 ให้บริบูรณ์ดี
ทุกวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริกปักษ์2

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 403-4 ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) 20/71/289-290, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/43/308
2 ปาฏิหาริกปักษ์ หมายถึงกำหนดเวลา 5 เดือน คือ เดือน 8 ต้นแห่งวันเข้าพรรษา, 3 เดือนภายในพรรษา,
เดือน 12 (ขุ.สุ.อ. 2/405/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :593 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[406] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[407] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม1
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา2
ธัมมิกสูตรที่ 14 จบ
จูฬวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. รตนสูตร 2. อามคันธสูตร
3. หิริสูตร 4. มงคลสูตร
5. สูจิโลมสูตร 6. ธัมมจริยสูตร
7. พราหมณธัมมิกสูตร 8. นาวาสูตร
9. กิงสีลสูตร 10. อุฏฐานสูตร
11. ราหุลสูตร 12. วังคีสสูตร
13. สัมมาปริพพาชนียสูตร 14. ธัมมิกสูตร


เชิงอรรถ :
1 การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม 5 อย่าง คือ (1) สัตถวณิชชา
(ค้าขายอาวุธ) (2) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์) (3) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์) (4) มัชชวณิชชา
(ค้าขายน้ำเมา) (5) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. 2/407/200)
2 สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น (ขุ.สุ.อ. 2/407/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :594 }