เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[363] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล
การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ
ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[364] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[365] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[366] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว
ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[367] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย
ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย1
ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ พึงชักนำไปไม่ได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
1 อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.สุ.อ. 2/367/183)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :585 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[368] ภิกษุผู้ไม่ผิดพลาดทางกาย วาจา และใจ
รู้แจ้งซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[369] ภิกษุรู้จักเคารพนบไหว้ ไม่ถือตัว ถึงถูกด่าว่าก็ไม่โกรธ
ได้ภัตตาหารที่ผู้อื่นถวายประจำแล้วก็ไม่ประมาทมัวเมา
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[370] ภิกษุละความโลภและกามภพเป็นต้นได้แล้ว
เว้นขาดจากการฆ่าฟัน และการจองจำผู้อื่น
ตัดความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสดุจลูกศร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[371] ภิกษุผู้รู้ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ตน
รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริง
ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทุกชนิด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[372] ภิกษุไม่มีอนุสัยกิเลสใด ๆ ถอนรากอกุศลธรรมได้หมดสิ้น
ไม่มีความหวัง ปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[373] ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ละมานะได้เด็ดขาด
ล่วงพ้นทางแห่งราคะ1ทั้งหมด
ฝึกตนได้ ดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ดำรงตนมั่นคง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
1 ทางแห่งราคะ หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ 3 (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) (ขุ.สุ.อ. 2/373/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :586 }