เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[359] (ท่านพระวังคีสเถระกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์ทรงเป็นพุทธเจ้า ไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[360] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้าง ทั้งมั่นคง
ของมารเจ้าเล่ห์ได้เด็ดขาด
[361] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
วังคีสสูตรที่ 12 จบ

13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
ว่าด้วยภิกษุควรละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบ
[362] (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระมุนีผู้มีปัญญามาก
ทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรินิพพาน มีพระทัยมั่นคง
ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว
พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :584 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[363] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล
การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ
ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[364] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[365] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[366] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว
ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[367] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย
ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย1
ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ พึงชักนำไปไม่ได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
1 อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.สุ.อ. 2/367/183)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :585 }