เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 11. ราหุลสูตร
[341] เธอจงคบกัลยาณมิตร ยินดีเสนาสนะอันสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[342] เธอจงอย่าทำความอยากในปัจจัย 4 เหล่านี้ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชที่เกิดขึ้น
เธออย่ากลับมายังโลกนี้อีกเลย
[343] เธอจงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์ และอินทรีย์ 5
จงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน
จงเป็นผู้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏให้มาก
[344] จงเว้นสุภนิมิตอันเป็นเหตุให้เกิดราคะเสีย
จงเจริญสมาธิจิตด้วยอสุภภาวนา
จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และตั้งมั่นด้วยดี1
[345] จงเจริญกัมมัฏฐานที่ไม่มีนิมิต จงละมานานุสัยกิเลส
เพราะละมานะได้นั่นเอง เธอก็จะเป็นผู้สงบระงับ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุลด้วยคาถาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ
ด้วยประการฉะนี้
ราหุลสูตรที่ 11 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึงแน่วแน่ด้วยอุปจารสมาธิ ตั้งมั่นด้วยดี หมายถึงตั้งมั่นแนบแน่นด้วยอัปปนาสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. 2/344/160)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :579 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 12. วังคีสสูตร
12. วังคีสสูตร1
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน
ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ2ได้เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป
ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[346] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา
ผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ3
ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/1272-1287/546-549
2 หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้น ๆ (ขุ.สุ.อ.
2/346/164)
3 เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. 2/346/165)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :580 }