เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 9. กิงสีลสูตร
9. กิงสีลสูตร
ว่าด้วยการจะบรรลุประโยชน์สูงสุดต้องประพฤติเช่นไร
[327] (ท่านพระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
นรชนมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพิ่มพูนการทำอะไรบ้าง
จึงชื่อว่า พึงดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง และบรรลุประโยชน์สูงสุดได้
[328] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นรชนควรเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่1 ไม่ริษยา
และควรรู้จักกาลที่จะเข้าไปหาครูทั้งหลาย
รู้จักขณะที่จะฟังธรรมีกถาที่ท่านกล่าว
และตั้งใจฟังสุภาษิตอื่น ๆ จากท่านโดยเคารพ
[329] ควรลดมานะ นบนอบอ่อนน้อม
เข้าไปยังสำนักของครูตามเวลาเหมาะสม
ตั้งใจระลึกถึงอรรถ ธรรม สังยมะ2 พรหมจรรย์
พร้อมทั้งยึดถือปฏิบัติตามนั้น
[330] ควรเป็นผู้พอใจธรรม ยินดีในธรรม
ดำรงอยู่ในธรรม รู้จักพิจารณาธรรม
ไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายธรรม
ควรให้เวลาสิ้นไปกับสุภาษิตที่แท้3

เชิงอรรถ :
1 ผู้ใหญ่ มี 4 คือ (1) ปัญญาวุฒ ผู้ใหญ่โดยปัญญา (2) คุณวุฒ ผู้ใหญ่โดยคุณความดี (3) ชาติวุฒ ผู้ใหญ่
โดยชาติ (เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง) (4) วัยวุฒ ผู้ใหญ่โดยวัยคือเกิดก่อน ในที่นี้หมายถึงปัญญาวุฒ
(ขุ.สุ.อ. 2/328/147)
2 สังยมะ หมายถึงศีล (ขุ.สุ.อ. 2/329/148)
3 สุภาษิตที่แท้ หมายถึงสุภาษิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. 2/330/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :575 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 9. กิงสีลสูตร
[331] การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ
ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย
การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี
ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว
การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย
และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ
ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่
[332] นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน1 เป็นผู้ประมาท
เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ
และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น
ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย2
[333] ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม3ที่พระอริยะประกาศแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้
ด้วยกาย วาจา และใจ
ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ4
จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา
กิงสีลสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. 2/332/150)
2 ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญ
เพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้
ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม (ขุ.สุ.อ. 2/332/150)
3 ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. 2/333/151)
4 สันติ หมายถึงนิพพาน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. 2/333/151)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :576 }