เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 6. ธัมมจริยสูตร
[276] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ 5 จบ

6. ธัมมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายดังนี้)
[277] พระอริยะทั้งหลายกล่าวการประพฤติธรรม1
และการประพฤติพรหมจรรย์2ทั้ง 2 นี้ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด
ถ้าบุคคลออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต
[278] หากผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นคนปากร้าย
ชอบเบียดเบียนผู้อื่นดุจสัตว์ป่า
ชีวิตของเขาชื่อว่าต่ำทรามที่สุด
เพราะมีแต่จะทำให้ธุลีคือกิเลสพอกพูนในใจของตน
[279] ภิกษุผู้ชอบทะเลาะ ถูกโมหะปิดบัง
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลตักเตือนแล้ว
ก็ไม่ยอมรับรู้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
[280] ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว
ชอบเบียดเบียนพระอริยะผู้อบรมตนแล้ว
ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้าหมองและเป็นหนทางให้ตกนรก

เชิงอรรถ :
1 การประพฤติธรรม หมายถึงการประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/277/121)
2 พรหมจรรย์ หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. 2/277/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :565 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 6. ธัมมจริยสูตร
[281] ภิกษุเมื่อไม่รู้เช่นนั้น ก็ต้องเกิดในอบาย
ออกจากครรภ์สู่ครรภ์ ออกจากที่มืดสู่ที่มืด
ภิกษุผู้เช่นนั้นเมื่อตายไปย่อมได้รับทุกข์
[282] บุคคลใดมีความประพฤติเสียหายเช่นนี้ตลอดกาลนาน
พึงเป็นผู้เต็มด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี
บุคคลนั้นเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ชำระให้หมดจดได้ยาก
[283] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน1
มีความปรารถนาชั่ว มีความดำริชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่ว เช่นนี้
[284] เธอทั้งหลายพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เลิกคบบุคคลนั้น
จงกำจัดผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในใจเหมือนแกลบออกเสีย
จงคร่าผู้ทุศีลออกจากหมู่
เหมือนคนกำจัดหยากเยื่อออกจากบ้าน ฉะนั้น
[285] ต่อจากนั้น เธอทั้งหลายจงขับไล่ผู้ที่มิใช่สมณะ
แต่แต่งกายเลียนแบบสมณะออกไปจากสงฆ์
เหมือนคนคัดข้าวลีบทิ้ง ฉะนั้น
ครั้นกำจัดพวกปรารถนาชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่วออกได้แล้ว
[286] เธอทั้งหลายผู้มีศีลบริสุทธิ์
จงเคารพยำเกรงกันอยู่ร่วมกับท่านผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สามัคคีกัน
มีปัญญารักษาตน จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ธัมมจริยสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 อาศัยเรือน ในที่นี้หมายถึงอาศัยกามคุณ 5 ประการ (ขุ.สุ.อ. 2/283/123)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :566 }