เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 5. สูจิโลมสูตร
[270] (31) การเผาผลาญบาป (32) การประพฤติพรหมจรรย์
(33) การเห็นอริยสัจ (34) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[271] (35) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(36) จิตไม่เศร้าโศก (37) จิตปราศจากธุลี (38) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[272] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง 38 ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตรที่ 4 จบ

5. สูจิโลมสูตร1
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนแท่นหิน ในที่อาศัยของสูจิโลมยักษ์
ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์เดินผ่านเข้ามาใกล้ ๆ พระผู้มี
พระภาค ทันใดนั้น ขรยักษ์ได้กล่าวกับสูจิโลมยักษ์ว่า “นั่น สมณะ” สูจิโลมยักษ์
กลับกล่าวว่า “นั่น ไม่ใช่สมณะจริง แต่เป็นสมณะปลอม เดี๋ยวก็รู้ว่าสมณะจริงหรือ
สมณะปลอมกันแน่”
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ น้อมกายเข้าไป
จนชิดพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงขยับพระวรกายออกไป สูจิโลมยักษ์
จึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “สมณะ ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยักษ์เอ๋ย เราไม่เคยกลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่าน
หยาบกร้านเหลือเกิน”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/237/339, ขุ.ม. (แปล) 29/5/13

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :563 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 5. สูจิโลมสูตร
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[273] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[274] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[275] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย1
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. 2/275/115)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :564 }