เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 2. อามคันธสูตร
[250] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[251] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง
ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ
ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[252] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย
มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา
และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี
มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ
หรือความเศร้าหมองในกาย
ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ
ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี
เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ
และการทรมานตนตามฤดูกาล
ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
[253] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง 6 นั้นได้
เข้าใจชัดอินทรีย์ 6 อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม
ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้
[254] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนือง ๆ
จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :559 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 3. หิริสูตร
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสคือกลิ่นดิบ
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ ก็แนะนำได้ยาก
[255] ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ไม่มีกลิ่นดิบ
ที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มีใจอ่อนน้อม ถวายอภิวาทพระตถาคต
และกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ณ ที่นั้นนั่นเอง
อามคันธสูตรที่ 2 จบ

3. หิริสูตร
ว่าด้วยความละอาย
[256] (พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาของดาบสดังนี้)
คนผู้ไม่มีหิริ รังเกียจคนมีหิริ
ชอบพูดว่า ‘เราเป็นเพื่อนท่าน’
แต่ไม่เคยช่วยเหลือการงานของเพื่อนเลย
พึงรู้เถิดว่า ‘คนนั้นไม่ใช่เพื่อนเรา’
[257] คนพูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน
แต่ไม่ทำประโยชน์แก่มิตร
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ดีแต่พูด
[258] มิตรใดไม่พลั้งเผลอ มุ่งหวังความแตกแยกกัน
คอยหาแต่ความผิดเท่านั้นทุกเวลา
มิตรนั้นไม่ควรคบ
ส่วนมิตรที่วางใจได้ เหมือนบุตรในไส้
ถึงผู้อื่นกล่าวเหตุตั้งร้อยอย่างพันอย่าง
ก็ไม่แตกแยกจากกัน
มิตรเช่นนั้นควรคบอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :560 }