เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 1. รตนสูตร
เรากล่าวว่าผู้เห็นบทแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[236] พุ่มไม้งามในป่าซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[237] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[238] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นนักปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลดังนี้)
[239] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :556 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 2. อามคันธสูตร
[240] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[241] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
รตนสูตรที่ 1 จบ

2. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[242] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้)
สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว
ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม
ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
[243] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด
ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตบแต่งอย่างประณีตถวาย
เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ1
[244] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’
แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ

เชิงอรรถ :
1 กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. 2/243/50)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :557 }