เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 12. มุนิสูตร
[211] ผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส1 กำจัดพืช2ได้เด็ดขาด
ไม่ให้ยางพืชไหลเข้าไปได้อีก
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้มีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ละอกุศลวิตกได้ จึงไม่ถึงการนับอีกต่อไป
[212] ผู้รู้แจ้งภพเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งหมด
ไม่ปรารถนาภพเหล่านั้นแม้สักภพเดียว
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้ปราศจากความยึดติด3 ไม่มีความยึดมั่น
ย่อมไม่ก่อกรรมใด ๆ อีก เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
[213] ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[214] ผู้มีกำลังคือปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร4
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
1 ที่ตั้งแห่งกิเลส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ (ขุ.สุ.อ. 1/211/289)
2 พืช ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ. 1/211/289)
3 ความยึดติด หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. 1/212/290)
4 ในที่นี้ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล 4 ประการ วัตร หมายถึงธุดงควัตร 13 ประการ (ขุ.สุ.อ. 1/214/294)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :549 }