เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 10. อาฬวกสูตร
[190] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม 4 ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[191] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ1ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ2ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[192] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[193] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[194] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ 10 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ธรรม” ในข้อ 190 กับคำว่า “ทมะ” ในข้อ 191 มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญา
ที่ได้จากการฟัง และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.สุ.อ. 1/190-191/
267-268)
2 คำว่า “ธิติ” ในข้อ 190 กับคำว่า “ขันติ” ในข้อ 191 มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ
(ความเพียร) (ขุ.สุ.อ. 1/191/268)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :545 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 11. วิชยสูตร
11. วิชยสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[195] การที่คนเรายืน เดิน นั่ง หรือนอน
คู้เข้าหรือเหยียดออก
นี้จัดเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย
[196] ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น1
มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง
ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง
[197] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก
อาหารใหม่ อาหารเก่า
ตับ มูตร หัวใจ ปอด ไต ม้าม
[198] น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน
[199] อนึ่ง ร่างกายนี้มีของไม่สะอาด
ไหลออกทางทวารทั้ง 9 เสมอ คือ
มีขี้ตาไหลออกทางเบ้าตา มีขี้หูไหลออกทางรูหู
[200] มีน้ำมูกไหลออกจากทางช่องจมูก
บางคราวก็อาเจียน สำรอกน้ำดี ขากเสลดออกทางปาก
มีหยาดเหงื่อออกตามขุมขน มีหนองฝีไหลออกตรงที่เป็นแผล

เชิงอรรถ :
1 ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก 300 ท่อน และเอ็น 900 เส้น (ขุ.สุ.อ. 1/196/278)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :546 }