เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 10. อาฬวกสูตร
[182] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ 9 จบ

10. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกล่าวดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ 2 อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ 3 อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :542 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 10. อาฬวกสูตร
แม้ครั้งที่ 4 อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราจะไม่ออกไปอีกแล้ว ท่านจะทำอะไรก็เชิญเถิด”
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้แหลก
สลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[183] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
[184] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรม1ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา2
นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ3

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (สํ.ส.อ. 1/73/94, ขุ.สุ.อ. 1/184/262)
2 มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา หมายถึงที่เป็นคฤหัสถ์ ก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ คือ ขยันทำการงาน
นับถือพระรัตนตรัย ให้ทาน รักษาศีล 5 และศีล 8 และที่เป็นบรรพชิตก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิต
คือ รักษาศีลไม่ให้ขาด และเจริญภาวนา (ขุ.สุ.อ. 1/184/264)
3 สํ.ส. (แปล) 15/73/80

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :543 }