เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 7. วสลสูตร
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
[137] ท่านจงรู้ข้อนั้นตามที่เราแสดงนี้ คือ
บุตรคนจัณฑาลผู้ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ
ผู้ปิ้งสุนัขรับประทาน
[138] ต่อมา นายมาตังคะได้รับยศศักดิ์ใหญ่ซึ่งได้แสนยาก
ทั้งกษัตริย์และพราหมณ์จำนวนมาก ต่างมาสู่ที่บำรุงของเขา
[139] เขาขึ้นยานอันประเสริฐ1ไปตามทางใหญ่2ที่ไม่มีฝุ่นละออง3
ละกามราคะได้แล้ว ไปเกิดในพรหมโลก
ชาติกำเนิดห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้
[140] พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนตร์ มีหน้าที่ร่ายมนตร์
แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำบาปกรรมอยู่เป็นประจำ
[141] พราหมณ์พวกนั้นถูกตำหนิในชาติปัจจุบันตายแล้วก็ต้องไปทุคติ
ชาติกำเนิดห้ามพวกเขาจากทุคติหรือจากการติเตียนไม่ได้
[142] คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพรามหณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน

เชิงอรรถ :
1 ยานอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ 8 (ขุ.สุ.อ.1/139/192)
2 ไปตามทางใหญ่ หมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว (ขุ.สุ.อ.1/139/192)
3 ฝุ่นละออง หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ.1/139/192)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :532 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 8. เมตตสูตร
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วสลสูตรที่ 7 จบ

8. เมตตสูตร1
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้)
[143] ผู้ฉลาดในประโยชน์ มุ่งหวังบรรลุสันตบท
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[144] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย
มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
[145] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[146] คือเหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 143-152 ดู ขุททกปาฐะ (เมตตสูตร ข้อ 1-10 หน้า 20-22 ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :533 }