เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 5. จุนทสูตร
[86] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ข้ามพ้นความสงสัยได้เด็ดขาด
ปราศจากกิเลสดุจลูกศร ยินดียิ่งในนิพพาน
ไม่ติดอยู่ในตัณหา ผู้แนะนำสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
เป็นสมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
[87] ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ รู้ว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
แล้วบอก เปิดเผยนิพพานธรรมในธรรมวินัยนี้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุ
ผู้ตัดความสงสัยได้แล้ว เป็นมุนี
ไม่มีตัณหาทำให้หวั่นไหวนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ 2 ผู้แสดงมรรค
[88] ภิกษุใดเป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษ1
ดำรงอยู่ในมรรคคือบทแห่งธรรมที่แสดงไว้ดีแล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ 3 ผู้ดำรงอยู่ในมรรค
[89] ภิกษุใดทำตนเลียนแบบพระอริยะ ผู้มีวัตรดีงาม
ชอบเอาหน้า ประทุษร้ายตระกูล
คะนองกาย วาจา ใจ มีมายา ไม่สำรวม พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุผู้เที่ยวเลียนแบบ จัดเป็นสมณะจำพวกที่ 4 ผู้ประทุษร้ายมรรค
[90] อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ได้สดับแล้ว เป็นอริยสาวก มีปัญญา
รู้ซึ้งถึงลักษณะสมณะทั้ง 4 จำพวกนั้น
แล้วรู้ว่า สมณะทั้งหมดไม่เป็นเช่นนี้
เพราะเห็นเช่นนี้ ศรัทธาของเขาจึงไม่เสื่อมไป

เชิงอรรถ :
1 เสพบทอันไม่มีโทษ หมายถึงปฏิบัติตามโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ขุ.สุ.อ.1/88/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :522 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 6. ปราภวสูตร
เพราะเห็นว่า บุคคลจะทำสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ให้เสมอกับสมณะผู้ทุศีล
และสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอกับสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์
ได้อย่างไรเล่า
จุนทสูตรที่ 5 จบ

6. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป1 เทวดาองค์หนึ่ง
มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[91] ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม
กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า
อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม
[92] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย2 ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
ผู้เจริญใคร่ธรรม3 ผู้เสื่อมชังธรรม

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 4 ข้อ 1 หน้า 6 ในเล่มนี้
2 ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ในที่นี้หมายถึงผู้พัฒนาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ได้ง่ายเพราะได้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับการ
ประพฤติปฏิบัติของเขา (ขุ.สุ.อ. 1/92/171)
3 ใคร่ธรรม หมายถึงปรารถนาที่จะฟังและปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ขุ.สุ.อ. 1/92/171)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :523 }