เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 6. ปัณฑิตวรรค 4. มหากัปปินเถรวัตถุ
2. อัสสชิปุนัพพสุกวัตถุ
เรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[77] ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน
และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย1

3. ฉันนเถรวัตถุ
เรื่องพระฉันนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[78] บุคคลไม่พึงคบมิตรชั่ว2 ไม่พึงคบคนต่ำช้า3
พึงคบแต่กัลยาณมิตร พึงคบแต่สัตบุรุษ

4. มหากัปปินเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัปปินเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[79] บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม4 มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร. (แปล) 26/995/502, ขุ.ม. (แปล) 29/208/610
2 มิตรชั่ว หมายถึงผู้ยินดีในอกุศลกรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/7)
3 คนต่ำช้า หมายถึงคนที่ชักนำในสิ่งที่ไม่สมควร มีการตัดช่องย่องเบา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/7)
4 ผู้อิ่มเอิบในธรรม หมายถึงบุคคลผู้บรรลุโลกุตตรธรรม 9 ประการ (มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1) (ขุ.ธ.อ.
4/19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :52 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 6. ปัณฑิตวรรค 7. กาณมาตาวัตถุ
5. ปัณฑิตสามเณรวัตถุ
เรื่องบัณฑิตสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[80] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน1

6. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[81] ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ2 ฉันนั้น

7. กาณมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของนางกาณา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[82] บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส3
ดุจห้วงน้ำที่ลึก ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ฝึกตน หมายถึงฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. 4/35) และดู ม.ม. (แปล) 13/352/431, ขุ.เถร.
(แปล) 26/877/484
2 ในคาถานี้ แม้จะตรัสโลกธรรมไว้เพียง 2 ประการ คือ นินทาและสรรเสริญก็จริง แต่พึงทราบว่า ทรงแสดง
โลกธรรมไว้ทั้ง 8 ประการ ความหมายโดยสรุป คือ ไม่หวั่นไหวทั้งในอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา)
และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.ธ.อ. 4/36)
3 ผ่องใส ในที่นี้หมายถึงบรรลุสภาวะที่จิตปราศจากอุปธิกิเลสด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/40)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :53 }