เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[66] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ 5 อย่าง
ขจัดอุปกิเลส1แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรัก และความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[67] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งสุขและทุกข์
โสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[68] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง2
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[69] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้น3และฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์

เชิงอรรถ :
1 อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต มี 16 คือ (1) อภิชฌาวิสามโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้
(2) พยาบาท คิดร้ายเขา (3) โกธะ ความโกรธ (4) อุปนาหะ ความผูกโกรธ (5) มักขะ ความลบหลู่
คุณท่าน (6) ปลาสะ ความตีเสมอ (7) อิสสา ความริษยา (8) มัจฉริยะ ความตระหนี่ (9) มายา มารยา
(10) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา (11) ถัมภะ ความหัวดื้อ (12) สารัมภะ ความแข่งดี (13) มานะ
ความถือตัว (14) อติมานะ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา (15) มทะ ความมัวเมา (16) ปมาทะ ความประมาท
(ขุ.สุ.อ.1/66/117)
2 ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.1/68/121)
3 การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (สงัดกาย) (ขุ.สุ.อ.1/69/122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :515 }