เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[53] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์1เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะ2ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[54] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[55] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม3
ถึงนิยาม4 ได้เฉพาะมรรค5แล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ) (ขุ.สุ.อ.1/53/99)
2 นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างไดรับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะช้างไม่กลับมาสู่
ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่ ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล
ที่พระอริยะใคร่ เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่
(ขุ.สุ.อ.1/53/98)
3 ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 62 เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.1/55/102)
4 ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค 4 (ขุ.จู. (แปล) 30/141/453)
5 มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 (ขุ.จู. (แปล) 30/141/453)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :512 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[56] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ
ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่
กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
ไม่มีความหวัง1ในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[57] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่วผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย2 และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[58] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[59] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[60] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีตัณหา (ขุ.สุ.อ.1/56/105)
2 ขวนขวาย หมายถึงเกี่ยวข้องในธรรมผิดด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ 10 ประการ (ขุ.สุ.อ.1/57/106)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :513 }