เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[49] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา1
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย2นี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[50] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[51] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
คำว่า ‘กาม’ นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ
เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[52] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา 32 ประการ มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล)
30/135/439)
2 ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) 30/135/440)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :511 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[53] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์1เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะ2ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[54] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[55] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม3
ถึงนิยาม4 ได้เฉพาะมรรค5แล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ) (ขุ.สุ.อ.1/53/99)
2 นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างไดรับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะช้างไม่กลับมาสู่
ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่ ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล
ที่พระอริยะใคร่ เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่
(ขุ.สุ.อ.1/53/98)
3 ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 62 เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.1/55/102)
4 ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค 4 (ขุ.จู. (แปล) 30/141/453)
5 มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 (ขุ.จู. (แปล) 30/141/453)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :512 }