เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[45] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี1 เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[46] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น2
[47] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[48] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเห็นกำไลทอง 2 วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว3
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 135 ในเล่มนี้
2 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/464/355, ขุ.ชา. (แปล) 27/17-19/303 และดูธรรมบทข้อ 328-329 หน้า
135-136 ในเล่มนี้
3 หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้
ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน (ขุ.สุ.อ. 1/48/91) และดู ขุ.จู. (แปล) 30/134/438

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :510 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[49] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา1
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย2นี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[50] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[51] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
คำว่า ‘กาม’ นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ
เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[52] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา 32 ประการ มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล)
30/135/439)
2 ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) 30/135/440)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :511 }