เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[38] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[39] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี1
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[40] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[41] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์

เชิงอรรถ :
1 ความเสรี มี 2 อย่าง (1) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 และอริยมรรคมีองค์ 8 (2) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) 30/125/417)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :508 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[42] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้1
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[43] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก2
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[44] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว3
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ)
ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ) เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ
เก่าก็ตาม ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง 3 นั้น (ขุ.สุ.อ. 1/42/82, ขุ.จู.อ. 128/117)
2 สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. 1/43/84)
3 เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส
เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 1/44/85)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :509 }