เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
3. ขัคควิสาณสูตร1
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[35] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด2
[36] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[37] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์3ให้เสื่อมไปได้

เชิงอรรถ :
1 คาถาที่ 35-75 เป็นคำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์กล่าวไว้ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติ
ในอดีตชาติของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ ได้กล่าวคาถาว่าอย่างนั้น ๆ
ให้พระอานนท์ฟัง (ขุ.สุ.อ. 1/48) และดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/121-161/393-499
2 ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด หมายถึงประพฤติตามจริยา 8 อย่าง คือ (1) ความประพฤติ
ในอิริยาบถ 4 (2) ความประพฤติในอายตนะภายในและภายนอก (3) ความประพฤติในสติปัฏฐาน 4
(4) ความประพฤติในสมาธิคือฌาน 4 (5) ความประพฤติในอริยสัจ 4 (6) ความประพฤติในอริยมรรค 4
(7) ความประพฤติในสามัญญผล 4 (8) ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก
และสามารถละตัณหาได้ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ละกิเลสได้สิ้นเชิง ดำเนินทางสายเอกกล่าวคือ
สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 และตรัสรู้
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหมือนแรดมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง (ขุ.จู. (แปล) 30/121/395-401, ขุ.สุ.อ.
1/35/60-61)
3 ประโยชน์ มี 3 อย่าง คือ (1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกนี้) (2) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ใน
โลกหน้า) (3) ปรมัตถะ (ประโยชน์ยอดเยี่ยม) (ขุ.สุ.อ.1/37/69)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :507 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[38] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[39] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี1
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[40] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[41] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์

เชิงอรรถ :
1 ความเสรี มี 2 อย่าง (1) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 และอริยมรรคมีองค์ 8 (2) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) 30/125/417)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :508 }