เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 2. ธนิยสูตร
[15] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากความกระวนกระวายใด ๆ
อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[16] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากตัณหานุสัยดุจป่าใด ๆ
ซึ่งเป็นเหตุกำหนดความผูกพันไว้ในภพ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[17] ภิกษุผู้ละนิวรณ์1 5 ได้
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสเพียงดังลูกศร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
อุรคสูตรที่ 1 จบ

2. ธนิยสูตร
ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่างนายธนิยะกับพระพุทธเจ้า
[18] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าปรุงอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รีดน้ำนมโคไว้แล้ว
อยู่ร่วมกับบริวารช่วยเหลือกัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
มุงหลังคากั้นฝาเรือน นำไฟมาติดไว้เรียบร้อย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[19] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากกิเลสดุจตะปูตรึงใจ
พักแรม 1 ราตรี ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
เพิงที่พักคืออัตภาพ ก็ปราศจากหลังคาเครื่องมุงบัง
กองไฟคือราคะเป็นต้นก็ดับหมดแล้ว
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
1 นิวรณ์ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องกั้นความดี มี 5 ประการ คือ (1) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
(2) พยาบาท (ความคิดร้าย) (3) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (4) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ) (5) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ขุ.สุ.อ.1/17/23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :502 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 2. ธนิยสูตร
[20] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ฝูงโคของข้าพเจ้าไม่มีเหลือบและยุงมารบกวน
เที่ยวหากิน ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่มีหญ้างอกงาม
จึงสามารถทนฝนที่ตกลงมาได้ดี
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[21] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราผูกแพคืออริยมรรค ตกแต่งคือบำเพ็ญดีแล้ว
กำจัดห้วงน้ำคือกิเลสได้แล้ว ข้ามไปจนถึงฝั่งแล้ว1
จึงไม่มีความต้องการแพนั้นอีกต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[22] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ภรรยาของข้าพเจ้าเป็นหญิงเชื่อฟัง ไม่โลเล2
ครองรักร่วมกันมานานหลายปี เป็นที่ไว้วางใจของข้าพเจ้า
ความชั่ว3ใด ๆ ของนาง ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[23] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จิตของเราเชื่อฟังเรา หลุดพ้นกิเลสแล้ว
เราฝึกอบรมมานานจนเป็นจิตที่ฝึกหัดดีแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่มีความชั่ว4ใด ๆ ต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
1 ข้ามไปจนถึงฝั่ง หมายถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. 1/21/33)
2 โลเล หมายถึงความลุ่มหลง ความอยากของสตรี มี 5 อย่าง (1) โลเลในอาหาร (2) โลเลในเครื่อง
ประดับ (3) โลเลในบุรุษอื่น (4) โลเลในทรัพย์ (5) โลเลในการเที่ยวเตร่ (ขุ.สุ.อ. 1/22/33)
3 ความชั่ว (บาป) ที่นายธนิยะกล่าวนั้นหมายถึงความประพฤตินอกใจ (ขุ.สุ.อ. 1/22/33)
4 ความชั่ว ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นหมายถึงกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะที่ไม่บริสุทธิ์
(ขุ.สุ.อ. 1/23/35)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :503 }