เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 14. สุธัมมเถรวัตถุ
14. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้)
[73] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี1
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
[74] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง 2 ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา2และความถือตัว3จึงเกิดพอกพูนขึ้น

เชิงอรรถ :
1 ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม
ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 3/159)
2 ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. 3/160)
3 ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ 9 อย่าง (1) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (2) เป็นผู้เลิศกว่าเขา
ถือตัวว่าเสมอเขา (3) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (4) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
(5) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (6) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (7) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา
ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (8) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (9) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
(ขุ.ธ.อ. 3/160) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/21/96-97

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :50 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 6. ปัณฑิตวรรค 1. ราธเถรวัตถุ
15 วนวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[75] ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ได้ลาภเป็นอย่างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้ชัดข้อปฏิบัติทั้งสองนี้แล้ว ไม่พึงยินดีสักการะ1
แต่พึงเพิ่มพูนวิเวก2(ให้ต่อเนื่อง)
พาลวรรคที่ 5 จบ

6. ปัณฑิตวรรค
หมวดว่าด้วยบัณฑิต
1. ราธเถรวัตถุ
เรื่องพระราธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[76] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย3

เชิงอรรถ :
1 สักการะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย 4 (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) (ขุ.ธ.อ. 3/181)
2 วิเวก หมายถึงความสงัด มี 3 คือ (1) กายวิเวก ความสงัดกาย (2) จิตตวิเวก ความสงัดใจ (3) อุปธิวิเวก
ความสงัดอุปธิ (ขุ.ธ.อ. 3/181)
3 ขุ.เถร. (แปล) 26/993/502, ขุ.ม. (แปล) 29/208/610

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :51 }