เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 13. โลกสูตร
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ1 ธรรมารมณ์
ที่ได้รู้แจ้ง ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ในระหว่างนี้ ย่อมภาษิต กล่าว แสดงออก
ซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ชาวโลกจึง
เรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด (ยถาวาที) ก็ทำอย่างนั้น (ตถาการี) ทำอย่างใด
(ยถาการี) ก็กล่าวอย่างนั้น (ตถาวาที) ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวงตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
1 รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง)
อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ)
อารมณ์ทั้ง 3 นี้ ชื่อว่าอารมณ์ที่ได้ทราบ เพราะเป็นสภาวะที่เข้ามากระทบจมูก ลิ้นหรือกายแล้วเท่านั้น
จึงกำหนดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/23/301, ขุ.อิติ.อ. 112/413)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :496 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 13. โลกสูตร
เป็นนักปราชญ์ ปลดเปลื้องกิเลสที่ร้อยรัดได้ทั้งหมด
บรรลุนิพพานที่มีความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
บุคคลนี้สิ้นอาสวะ เป็นพุทธะ
ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้
บรรลุความสิ้นกรรมทั้งปวง
หลุดพ้นเพราะสิ้นอุปธิ
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโชค ตรัสรู้
เปรียบเหมือนราชสีห์ที่ยอดเยี่ยม
ประกาศพรหมจักรแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงมาประชุมกันนมัสการพระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการพระพุทธเจ้านั้น
ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า ด้วยการสรรเสริญว่า
‘เป็นผู้ฝึกฝนที่ประเสริฐสุดในหมู่ผู้ฝึกตนทั้งหลาย
เป็นฤๅษีผู้สงบกว่าผู้สงบทั้งหลาย
เป็นผู้หลุดพ้นที่ยอดเยี่ยมกว่าผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
เป็นผู้ข้ามพ้นที่ประเสริฐกว่าผู้ข้ามพ้นทั้งหลาย
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีบุคคลที่เปรียบเทียบกับพระองค์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลกสูตรที่ 13 จบ
จตุกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :497 }