เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 13. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
11. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้)
[70] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน
เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น
เท่าเสี้ยวที่ 16 ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว1

12. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[71] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที
เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้
บาปกรรมนั้นจะค่อย ๆ เผาผลาญคนพาล
เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น

13. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกฆ้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[72] ความรู้2เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว
ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี
ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน
จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. 3/147)
2 ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. 3/156)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :49 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 14. สุธัมมเถรวัตถุ
14. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้)
[73] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี1
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
[74] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง 2 ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา2และความถือตัว3จึงเกิดพอกพูนขึ้น

เชิงอรรถ :
1 ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม
ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 3/159)
2 ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. 3/160)
3 ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ 9 อย่าง (1) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (2) เป็นผู้เลิศกว่าเขา
ถือตัวว่าเสมอเขา (3) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (4) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
(5) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (6) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (7) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา
ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (8) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (9) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
(ขุ.ธ.อ. 3/160) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/21/96-97

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :50 }