เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 10. นทีโสตสูตร
10. นทีโสตสูตร
ว่าด้วยกิเลสเปรียบด้วยกระแสน้ำ
[109] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมาว่า ชายคนหนึ่งถูกกระแสน้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดพาไปอยู่
คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง เห็นชายคนนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พ่อหนุ่ม ท่านถูกกระแส
น้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดไปอยู่แล้วจริง ๆ แต่ในกระแสน้ำนี้มีห้วงน้ำลึกภายใต้ที่มีคลื่น
มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ ซึ่งท่านจมไปถึงแล้วต้องถึงความตาย หรือไม่ก็ได้
รับความทุกข์ปางตายแน่นอน’ ครั้นชายคนนั้นได้ยินเสียงของชายที่อยู่บนฝั่งนั้นแล้ว
ก็พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมา
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทำข้ออุปมานี้ไว้เพื่อให้เข้าใจความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานี้
มีความหมายดังนี้
คำว่า ‘กระแสน้ำ’ เป็นชื่อของตัณหา
คำว่า ‘ปิยรูปสาตรูป’ เป็นชื่อของอายตนะภายใน 6
คำว่า ‘ห้วงน้ำลึกภายใต้’ เป็นชื่อของโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5
คำว่า ‘มีคลื่น’ เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า ‘มีน้ำวน’ เป็นชื่อของกามคุณ 5
คำว่า ‘มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ’ เป็นชื่อของมาตุคาม
คำว่า ‘ทวนกระแสน้ำ’ เป็นชื่อของเนกขัมมะ
คำว่า ‘พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่าย’ เป็นชื่อการเริ่มทำความเพียร
คำว่า ‘คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง’ หมายถึงตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :489 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 11. จรสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุพึงละกามทั้งหลายให้ได้
แม้จะด้วยความยากลำบาก
เมื่อปรารถนาความเกษมจากโยคะต่อไป
ควรเป็นผู้มีสัมปชัญญะ มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสได้
ในเวลาที่บรรลุมรรคผลนั้น ๆ ก็จะสัมผัสวิมุตติได้
ภิกษุนั้นเป็นผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ถึงที่สุดของโลก1 เราเรียกว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นทีโสตสูตรที่ 10 จบ

11. จรสูตร2
ว่าด้วยอิริยาบถเดิน
[110] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึก
ในทางพยาบาท) หรือวิหิงสาวิตก(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังเดิน และภิกษุรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความ
ไม่มี ภิกษุแม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’

เชิงอรรถ :
1 โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.อิติ.อ.109/396)
2 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/11/20-21

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :490 }