เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 9. กุหสูตร
9. กุหสูตร1
ว่าด้วยภิกษุผู้หลอกลวง
[108] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดหลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ ชอบวางท่า
อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่ใช่ผู้นับถือเรา อยู่ห่างไกลจาก
ธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่หลอกลวง ไม่เป็นคนประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง
และมีจิตตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าผู้นับถือเรา ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และ
ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พวกภิกษุผู้หลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ
ชอบวางท่า อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ส่วนพวกภิกษุผู้ไม่หลอกลวง ไม่ประจบ
เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง และมีจิตตั้งมั่นดี
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กุหสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/26/41-42, ขุ.ม. (แปล) 29/41/152

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :488 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 10. นทีโสตสูตร
10. นทีโสตสูตร
ว่าด้วยกิเลสเปรียบด้วยกระแสน้ำ
[109] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมาว่า ชายคนหนึ่งถูกกระแสน้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดพาไปอยู่
คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง เห็นชายคนนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พ่อหนุ่ม ท่านถูกกระแส
น้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดไปอยู่แล้วจริง ๆ แต่ในกระแสน้ำนี้มีห้วงน้ำลึกภายใต้ที่มีคลื่น
มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ ซึ่งท่านจมไปถึงแล้วต้องถึงความตาย หรือไม่ก็ได้
รับความทุกข์ปางตายแน่นอน’ ครั้นชายคนนั้นได้ยินเสียงของชายที่อยู่บนฝั่งนั้นแล้ว
ก็พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมา
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทำข้ออุปมานี้ไว้เพื่อให้เข้าใจความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานี้
มีความหมายดังนี้
คำว่า ‘กระแสน้ำ’ เป็นชื่อของตัณหา
คำว่า ‘ปิยรูปสาตรูป’ เป็นชื่อของอายตนะภายใน 6
คำว่า ‘ห้วงน้ำลึกภายใต้’ เป็นชื่อของโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5
คำว่า ‘มีคลื่น’ เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า ‘มีน้ำวน’ เป็นชื่อของกามคุณ 5
คำว่า ‘มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ’ เป็นชื่อของมาตุคาม
คำว่า ‘ทวนกระแสน้ำ’ เป็นชื่อของเนกขัมมะ
คำว่า ‘พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่าย’ เป็นชื่อการเริ่มทำความเพียร
คำว่า ‘คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง’ หมายถึงตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :489 }