เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 10. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
8. กัสสกวัตถุ
เรื่องชาวนา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ดังนี้)
[67] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
ร้องไห้น้ำตานองหน้า เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมไม่ดี

9. สุมนมาลาการวัตถุ
เรื่องช่างดอกไม้ชื่อสุมนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[68] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
อิ่มเอิบ ดีใจ เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมดี

10. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[69] ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลย่อมสำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง1
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์

เชิงอรรถ :
1 สำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง หมายถึงสำคัญว่าบาปอกุศลที่ตนทำอยู่ ปรากฏน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ
เหมือนน้ำผึ้ง (ขุ.ธ.อ. 3/136)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :48 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 13. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
11. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้)
[70] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน
เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น
เท่าเสี้ยวที่ 16 ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว1

12. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[71] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที
เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้
บาปกรรมนั้นจะค่อย ๆ เผาผลาญคนพาล
เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น

13. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกฆ้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[72] ความรู้2เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว
ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี
ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน
จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. 3/147)
2 ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. 3/156)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :49 }