เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 4. อัคคิสูตร
ส่วนบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
พิจารณารู้ธรรม1ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
ต่อมาจึงกำหนดรู้ธรรมนั้น
เป็นผู้หมดกิเลสที่ทำให้หวั่นไหว สงบระงับกิเลสได้เด็ดขาด
ดุจห้วงน้ำสงบเรียบยามสงัดลม ฉะนั้น
ผู้นั้นไม่หวั่นไหว ดับความเร่าร้อนได้แล้ว
ชื่อว่าหมดความกำหนัดยินดี
เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่ทรงมีความหวั่นไหว
ทรงดับความเร่าร้อนได้
ทรงปราศจากความกำหนัดยินดี เป็นผู้อยู่ใกล้ทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆาฏิกัณณสูตรที่ 3 จบ

4. อัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟกิเลส
[93] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ไฟ 3 กองนี้
ไฟ 3 กอง คือ
1. ไฟคือราคะ 2. ไฟคือโทสะ 3. ไฟคือโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย ไฟ 3 กองนี้แล”

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ 4 ประการ (ขุ.อิติ.อ. 92/335)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :466 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 4. อัคคิสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้กำหนัด
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้มีจิตพยาบาท ชอบฆ่าสัตว์
ไฟคือโมหะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้ลุ่มหลง
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
หมู่สัตว์ เมื่อไม่รู้จักไฟทั้ง 3 กองนี้
จึงยินดียิ่งในสักกายะ1
ไม่พ้นจากบ่วงแห่งมาร สั่งสมเพื่อเกิดในนรก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย และแดนเปรต
ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรม
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน
หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์
ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง
ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ด้วยเมตตา
และย่อมดับไฟคือโมหะด้วยปัญญา
อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ดับไฟทั้ง 3 กองนั้นได้แล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น

เชิงอรรถ :
1 ยินดียิ่งในสักกายะ หมายถึงเพลิดเพลินยินดีในอุปาทานขันธ์ 5 ด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อิติ.อ.
93/337)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :467 }