เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 2. ชีวกสูตร
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม
ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันเป็นที่คลายความกำหนัด
และเป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้
ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
นักปราชญ์ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศ ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัคคัปปสาทสูตรที่ 1 จบ

2. ชีวกสูตร
ว่าด้วยชีวิตของผู้ทุศีล
[91] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุทุศีลเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพนี้ เป็นการกระทำ
ที่ต่ำทราม การที่ภิกษุทุศีลประพฤติเช่นนี้ย่อมถูกชาวโลกด่าว่า “เจ้าคนนี้อุ้มบาตร
เที่ยวขอชาวโลกเลี้ยงชีพ”
กุลบุตรต่างเป็นผู้ตระหนักในเหตุ อาศัยความตระหนักในเหตุ จึงเข้ามาใช้ชีวิต
เที่ยวขอก้อนข้าวนี้ มิใช่ถูกพระราชารับสั่งให้นำไปจองจำ มิใช่ถูกพวกโจรนำไปกักขัง
มิใช่เป็นลูกหนี้ มิใช่ตกอยู่ในห้วงอันตราย มิใช่มุ่งจะยึดเป็นอาชีพ แท้จริง กุลบุตร
เหล่านั้นเข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่า “พวกเราต่างถูกความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ ความตรอมใจ ทับถมครอบงำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :463 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 2. ชีวกสูตร
จมอยู่ในทุกข์ สาละวนอยู่กับทุกข์ ทำอย่างไรเล่า การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏได้”
กุลบุตรนี้เป็นผู้บวชแล้วด้วยเหตุผลตามที่กล่าวแล้วนี้ แต่แล้วกุลบุตรนั้นกลับ
มีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย
หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย ท่อนฟืนในที่เผาศพ ถูกไฟไหม้ทั้งด้านหัวและท้าย และตรง
กลางยังเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านหรือในป่าก็ไม่ได้ทั้งนั้น ฉันใด บุคคลผู้นี้ก็
เปรียบเช่นนั้น เราเรียกว่า “เป็นคนเสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ และไม่สามารถ
บำเพ็ญประโยชน์สำหรับความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์
ทั้งยังทำลายประโยชน์ของความเป็นสมณะให้เสื่อมสูญสิ้นไป
เหมือนท่อนฟืนในที่เผาศพมอดไหม้ไป ฉะนั้น
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชีวกสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบท ข้อ 307-308 หน้า 129, อิติวุตตกะ ข้อ 48 หน้า 399 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :464 }