เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 4. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
2. มหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกรุงราชคฤห์ ดังนี้)
[61] หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้
ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง
เพราะจะหาความเป็นเพื่อน1ในคนพาลไม่ได้เลย

3. อานันทเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอานันทเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริบุตรของอานันทเศรษฐี ดังนี้)
[62] คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า “เรามีบุตร เรามีทรัพย์”
แท้จริง ตัวตนก็ไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน

4. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
เรื่องโจรผู้ทำลายปม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โจรผู้ทำลายปมและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[63] คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

เชิงอรรถ :
1 ความเป็นเพื่อน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ได้จากความเป็นเพื่อนคือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ 10
ธุดงคคุณ 13 วิปัสสนา มรรค 4 ผล 4 วิชชา 3 อภิญญา 6 (ขุ.ธ.อ. 3/115)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :46 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 5. พาลวรรค 7. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
5. อุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[64] คนพาล แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต
ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น

6. ปาเฐยยกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[65] วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่
ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น

7. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
เรื่องนายสุปปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[66] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ทำตนให้เป็นดุจข้าศึก
เที่ยวทำบาปกรรมที่ให้ผลเผ็ดร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :47 }