เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 10. เทวทัตตสูตร
ส่วนผู้ใดละโมหะได้
ไม่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความหลง
ผู้นั้นย่อมกำจัดโมหะทั้งหมดได้เด็ดขาด
เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืด ฉะนั้น1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันตรามลสูตรที่ 9 จบ

10. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัตถูกอสัทธรรมครอบงำ
[89] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตถูกอสัทธรรม 3 ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย
ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
2. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไป
เกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
3. เมื่อยังมีมรรคผลที่ควรทำให้สูงขึ้นไป เทวทัตกลับมาถึงความเสื่อม
เสียกลางคัน เพราะบรรลุคุณวิเศษขั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม 3 ประการนี้แล ครอบงำย่ำยีจิต ต้อง
ไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/5/20, ขุ.จู. (แปล) 30/128/427-428

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :458 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 10. เทวทัตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ใคร ๆ อย่าได้เกิดเป็นคนปรารถนาชั่ว
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ในโลก
เธอทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตว่า
มีคติเหมือนกับคนปรารถนาชั่ว
เทวทัตเป็นที่ยกย่องกันว่า เป็นบัณฑิต
เป็นที่รู้กันว่า ได้อบรมตนแล้ว
เราได้ฟังมาว่า เทวทัตดุจรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ
เทวทัตนั้นสั่งสมความประมาท
เบียดเบียนตถาคตนั้น
จึงต้องไปเกิดในนรกอเวจี มีประตู 4 ด้าน
น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนที่ไม่ประทุษร้าย
ผู้ไม่ทำกรรมชั่ว
บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้นเท่านั้น
ผู้มีจิตคิดประทุษร้าย ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ผู้ใดเบียดเบียนตถาคต ผู้เสด็จไปดี
มีพระทัยสงบ ด้วยการกล่าวตำหนิ
การตำหนิพระองค์ ย่อมฟังไม่ขึ้น
เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร
ด้วยยาพิษจำนวนเป็นหม้อ
เขาไม่อาจประทุษร้ายได้ เพราะมหาสมุทรน่ากลัว1

เชิงอรรถ :
1 น่ากลัว หมายถึงทั้งกว้างและลึก (ขุ.อิติ.อ. 89/319)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :459 }