เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 4. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
4. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ว่าด้วยบุพพนิมิต 5 ประการ
[83] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต
5 ประการ คือ
1. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง
2. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง
3. เหงื่อไหลออกจากรักแร้
4. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย
5. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน
เทวดาทราบว่า เทพบุตรนี้จะจุติ ก็พลอยยินดีอวยพรให้ 3 ประการ คือ
1. ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดในภูมิที่ดี
2. ท่านได้ไปเกิดในภูมิที่ดีแล้ว ขอให้ได้ลาภอันดี
3. ท่านครั้นได้ลาภอันดีแล้ว ขอให้ดำรงตนอยู่ด้วยดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดาเป็นอย่างไร การได้ลาภ
อันดีของเทวดาเป็นอย่างไร การดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นการ
ไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดา การที่เทพบุตรลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้ความศรัทธา
ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ นี้ชื่อว่าเป็นการได้ลาภอันดีของเทวดา ก็ความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :447 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 4. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ศรัทธาของเทพบุตรนั้นแล ตั้งมั่น มีเหตุเกิด หยั่งลง มั่นคง อันสมณพราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถทำให้คลอนแคลนไปได้ นี้ชื่อว่า
เป็นการดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้
เมื่อเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก เพราะสิ้นอายุ
เทวดาผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพร 3 ประการ คือ
ท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว
ขอให้ไปเกิดในภูมิที่ดี คืออยู่ร่วมกับมนุษย์เถิด
ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้ได้มีศรัทธาอย่างสูงยิ่ง
ในพระสัทธรรมเถิด
ศรัทธาของท่านนั้นขอให้ตั้งมั่น มีเหตุเกิด
หยั่งลง มั่นคงในสัทธรรม
ที่ตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว
ใคร ๆ ทำให้คลอนแคลนไม่ได้ตลอดชีวิตเถิด
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตได้ทั้งหมด
รวมทั้งละกรรมชั่วที่ประกอบด้วยโทษอื่น ๆ
จงทำความดีทางกาย วาจาให้มาก
และทำความดีทางใจที่ประมาณมิได้ ปราศจากอุปธิ
นอกจากนั้น ท่านจงทำบุญ
ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยการให้ทาน
ชักชวนผู้อื่นให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม
ในพุทธศาสนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :448 }