เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 6. อวุฏฐิกสูตร
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทั่วทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วย
ฝนตกในพื้นที่ทั่วไปเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานแล้ว
ไม่ยอมแบ่งข้าว น้ำ และเครื่องใช้สอยอื่น ๆ ให้
ปัญญาชนเรียกคนต่ำทราม ใจแคบเช่นนั้นว่า
‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก’
บุคคลไม่ให้ข้าวน้ำเป็นต้นแก่สมณะ พราหมณ์เป็นต้นบางพวก
แต่ให้แก่บางพวก
ปัญญาชนเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน’
คนที่เขาออกปากขอได้ง่าย ชอบช่วยเหลือคนโดยทั่วหน้า
มีใจเบิกบาน แจกจ่ายสิ่งของ
ปากก็พูดแต่คำว่า ‘จงให้ จงให้’
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนอย่างนั้น
รวบรวมทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม
นำมาเลี้ยงวณิพกผู้มาถึง ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เหมือนเมฆฝนส่งเสียงร้องคำรามทำให้ฝนตก
จนน้ำไหลนองเต็มทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวุฏฐิกสูตรที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :435 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. สุขปัตถนาสูตร
7. สุขปัตถนาสูตร
ว่าด้วยผู้ปรารถนาความสุข
[76] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการนี้ พึงรักษาศีล
ความสุข 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอความสรรเสริญ จงมาถึงเรา” พึงรักษาศีล
2. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอโภคสมบัติทั้งหลาย จงเกิดขึ้นแก่เรา”
พึงรักษาศีล
3. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “หลังจากตายแล้ว เราจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์” พึงรักษาศีล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการนี้แล พึงรักษาศีล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการ คือ
ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ1
และการตายไปเกิดในสวรรค์ พึงรักษาศีล2
บุคคลแม้ไม่ทำบาป แต่ยังคบคนทำบาป
ก็ต้องถูกระแวงสงสัยในบาปเรื่อยไป
และได้รับคำตำหนิติเตียนมากมาย

เชิงอรรถ :
1 ความปลื้มใจ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ (ขุ.อิติ.อ. 76/291)
2 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/609/445

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :436 }