เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 4. ปุปผวรรค 3. วิฑูฑภวัตถุ
2. มรีจิกัมมัฏฐานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์
ดังนี้)
[46] ภิกษุผู้รู้แจ้งว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนฟองน้ำ
รู้ชัดว่า ร่างกายนี้มีลักษณะดุจพยับแดด1
ตัดพวงดอกไม้ของมาร2ได้แล้ว
ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ3

3. วิฑูฑภวัตถุ
เรื่องเจ้าชายวิฑูฑภะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[47] มฤตยู4 ย่อมฉุดคร่านรชนผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้5อยู่
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ชื่อว่า เหมือนฟองน้ำ เพราะจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ชื่อว่า ดุจพยับแดด เพราะปรากฏในที่ไกลเหมือนเป็นรูปที่จะยึดถือจับต้องได้ แต่พอเข้าใกล้กลับว่างเปล่า
ยึดถือจับต้องไม่ได้เลย ดำรงอยู่ได้ชั่วกาลนิดหน่อย (ขุ.ธ.อ. 3/4)
2 ตัดพวงดอกไม้ของมาร หมายถึงตัดวัฏฏะในภูมิ 3 (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) ได้ด้วยอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. 3/4)
3 สถานที่มัจจุราชหาไม่พบ หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 3/4)
4 มฤตยู หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. 3/25)
5 ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 3/24)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :41 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 4. ปุปผวรรค 6. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
4. ปติปูชิกาวัตถุ
เรื่องนางปติปูชิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[48] มฤตยูย่อมทำคนที่มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้อยู่
ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย1 ให้ตกอยู่ในอำนาจ

5. มัจฉริโกสิยเสฏฐิวัตถุ
เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้ตระหนี่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[49] ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น2

6. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อปาฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสิกาผู้รับใช้อาชีวกชื่อปาฏิกะ ดังนี้)
[50] บุคคลไม่พึงใส่ใจถ้อยคำแสลงหูของคนอื่น
ไม่พึงเพ่งเล็งกิจที่คนอื่นทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ
แต่พึงตรวจดูกิจที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย หมายถึงผู้ไม่อิ่มในกิเลสกามและวัตถุกาม มุ่งแต่จะแสวงหา มุ่งแต่จะให้ได้มา
มุ่งแต่จะใช้สอย และมุ่งแต่จะสะสม (ขุ.ธ.อ. 3/28)
2 ความหมายในคาถานี้คือ มุนีผู้เป็นทั้งพระเสขะและพระอเสขะเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามลำดับเรือน
รับเอาภิกษาหารโดยไม่ทำลายศรัทธาและทรัพย์ของชาวบ้าน ดุจหมู่ผึ้งที่บินเข้าไปในหมู่ไม้ดูดเอาแต่น้ำหวาน
ไม่ทำลายดอก สี และกลิ่นของต้นไม้ ในคาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. 3/34-35)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :42 }