เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 1. มูลสูตร
3. ติกนิบาต
1. ปฐมวรรค
หมวดที่ 1
1. มูลสูตร
ว่าด้วยอกุศลมูล1
[50] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล 3 ประการนี้
อกุศลมูล 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อกุศลมูลคือโลภะ (ความอยากได้)
2. อกุศลมูลคือโทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
3. อกุศลมูลคือโมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะ โทสะ และโมหะที่เกิดภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น2
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มูลสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 อกุศลมูล หมายถึงรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว (ขุ.อิติ.อ. 50/206)
2 สํ.ส. (แปล) 15/113/130, ขุ.ม. (แปล) 29/5/21, ขุ.จู. (แปล) 30/128/429

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :403 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 2. ธาตุสูตร
2. ธาตุสูตร
ว่าด้วยธาตุ
[51] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ 3 ประการนี้
ธาตุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปธาตุ1 2. อรูปธาตุ2 3. นิโรธธาตุ3
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตไปในนิโรธธาตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบท4ที่ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 รูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. 51/208)
2 อรูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. 51/208)
3 นิโรธธาตุ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. 51/208, 72/251)
4 บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. 51/209)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :404 }