เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 9. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายพอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนเรือนว่างอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายมีจิตสงบแล้ว มีปัญญารักษาตน
มีสติ เพ่งพินิจอยู่ ไม่ไยดีในกามทั้งหลาย
ย่อมเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฏิสัลลานสูตรที่ 8 จบ

9. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์
[46] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขา1 เป็นอานิสงส์ มีปัญญา2
เป็นเยี่ยม มีวิมุตติ3เป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่4อยู่เถิด

เชิงอรรถ :
1 สิกขา ในที่นี้หมายถึงสิกขา 3 คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. 46/194)
2 ปัญญา ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. 46/94)
3 วิมุตติ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. 46/194)
4 สติเป็นใหญ่ หมายถึงมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน 4 (ขุ.อิติ.อ. 46/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :395 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 9. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นเยี่ยม
มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่อยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ
อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เราเรียกมุนีผู้มีสิกขาบริบูรณ์ ไม่มีธรรมที่ต้องละ
มีปัญญาเป็นเยี่ยม มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแลว่า
เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา1
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นทุกเมื่อ มีความเพียร
มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ครอบงำมารพร้อมทั้งเสนามารได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สิกขานิสังสสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ อิติวุตตกะข้อ 39 หน้า 386

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :396 }