เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 7. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
6. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 500 รูป ดังนี้)
[40] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร
แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร1
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด2

7. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[41] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. 2/137)
2 ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อน ๆ ชนะ
กิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใสแล้ว
รักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุด จะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ.
2/136)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :38 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 9. โสเรยยวัตถุ
8. นันทโคปาลกวัตถุ
เรื่องนายนันทะผู้เลี้ยงโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[42] จิตที่ตั้งไว้ผิด1พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร2
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

9. โสเรยยวัตถุ
เรื่องพระโสเรยยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[43] จิตที่ตั้งไว้ชอบ3 ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ให้ไม่ได้
จิตตวรรคที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 จิตที่ตั้งไว้ผิด หมายถึงจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ 10 ประการ ทำให้ถึงความพินาศฉิบหายในโลกนี้
และตกไปในอบายภูมิ 4 ถึง 100,000 ชาติ (ขุ.ธ.อ. 2/143)
2 โจรเห็นโจร หมายถึงโจรเห็นโจรที่เป็นคู่อาฆาตกันแล้วจะต้องฆ่ากัน หรือเบียดเบียนให้ได้รับความเสียหาย
(ขุ.ธ.อ. 2/143)
3 จิตที่ตั้งไว้ชอบ หมายถึงจิตที่มุ่งมั่นประพฤติตามกุศลกรรมบถ 10 ประการ (ขุ.ธ.อ. 2/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :39 }