เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. เมตตาภาวนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤๅษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม
ทรงบูชายัญ คือ (สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ)1 เสด็จเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
1 ยัญ 5 นี้ เดิมทีเดียว คือราชสังคหวัตถุ(หลักสงเคราะห์ของพระราชา) มีดังนี้ (1) สัสสเมธะ (ฉลาดในการ
บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร) (2) ปุริสเมธะ (ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
(3) สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ) (4) วาชเปยยะ (ความมี
วาจาอันดูดดื่มน้ำใจ) (5) นิรัคคฬะ (บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่
ต้องลงกลอน) ยัญ 4 ประการแรก เป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผล
ต่อมาพราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญ เพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน และมี
ความหมายแตกต่างออกไปดังนี้ อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่น) วาชเปยยะ (การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อม
จิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ) นิรัคคฬะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่าง
บูชายัญ) (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/213, ขุ.อิติ.อ. 27/106-108, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/39/371-372, องฺ.อฏฺฐก.
ฏีกา 3/1/249-252)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :373 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
(เหมือนแสงหมู่ดวงดาวทุกดวงไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น)
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ไม่มีเวรกับใคร ๆ1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตาภาวนาสูตรที่ 7 จบ
ตติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปสันนจิตตสูตร 2. เมตตสูตร
3. อุภยัตถสูตร 4. อัฏฐิปุญชสูตร
5. มุสาวาทสูตร 6. ทานสูตร
7. เมตตาภาวนาสูตร

รวมพระสูตรในนิบาตนี้
ในเอกกนิบาตนี้มีพระสูตรรวมได้ 27 สูตร คือ ในวรรคนี้มี 7 สูตร ใน 2
วรรคข้างต้นมี 20 สูตร
เอกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/1/194-195

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :374 }