เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 6. ปฐมเสขสูตร
6. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ 1
[16] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ1อันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่ง
มีอยู่ภายในตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนโยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย)
นี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อมนสิการโดยแยบคายย่อมละอกุศลได้ และทำกุศล
ให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นที่จะมีอุปการะมาก
แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะเพื่อการบรรลุประโยชน์สูงสุด
เหมือนกับโยนิโสมนสิการ
เพราะภิกษุเมื่อเริ่มตั้งความเพียรด้วยโยนิโสมนสิการไว้
ก็พึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเสขสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. 16/70,18/79)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :360 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 8. สังฆเภทสูตร
7. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ 2
[17] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่งมี
อยู่ภายนอกตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมละอกุศลได้ และทำกุศลให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีความเคารพ ยำเกรง
ปฏิบัติตามคำของมิตรทั้งหลาย
มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ก็พึงถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเสขสูตรที่ 7 จบ

8. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[18] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :361 }