เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 9. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
7. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้)
[30] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ

8. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[31] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์1น้อยใหญ่ได้หมด
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น

9. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้)
[32] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่เสื่อม2 ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี 10 อย่าง คือ (1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน
(2) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (4) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(5) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (6) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (7) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป
(8) มานะ ความถือตัว (9) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (10) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. 2/106, ขุ.อิติ.อ. 34/121)
2 ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค
ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. 2/109 องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/37/367) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/37/60

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :34 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 1. เมฆิยเถรวัตถุ
3. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
1. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[33] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก1
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้
เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[34] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา2
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร3

เชิงอรรถ :
1 ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง 6 มี รูปารมณ์ เป็นต้น
กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ใน
อิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก (ขุ.ธ.อ. 2/112)
2 ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ 5 เมื่อถูกพรากจากกามคุณ 5 ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ (ขุ.ธ.อ. 2/112)
3 บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (ขุ.ธ.อ.
2/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :35 }