เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 6. ปาฏลิคามิยสูตร
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารที่พัก พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าไปยัง
อาคารที่พัก ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์
ก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศ
ตะวันออกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้า
แล้วเข้าไปยังอาคารที่พักนั้น นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตก
ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค

โทษแห่งศีลวิบัติ 5 ประการ1
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ 5 ประการนี้ โทษ 5 ประการ คือ
1. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็น
อันมากซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ 1 แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
2. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษที่ 2 แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
3. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม
ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ 3 แห่งศีลวิบัติ
ของบุคคลผู้ทุศีล
4. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการที่ 4
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
5. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ 5 แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ 5 ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ปา. 11/316/209-201, องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/213/355

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :332 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 6. ปาฏลิคามิยสูตร
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ 5 ประการ
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ 5 ประการนี้ อานิสงส์
5 ประการ คือ
1. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 1 แห่งศีล
สมบัติของบุคคลผู้มีศีล
2. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมขจรไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ 2 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
3. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม หรือสมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 3
แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
4. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ 4 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
5. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 5 แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลมีอานิสงส์ 5 ประการนี้แล”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า “คหบดีทั้งหลาย
ราตรีใกล้จะสว่าง ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามต่างชื่นชมอนุโมทนาพระธรรมเทศนา
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาคก็เสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :333 }