เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 6. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
[27] ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบความประมาท
อย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย
เพราะผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่
ย่อมได้รับความสุขอันไพบูลย์1

5. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ดังนี้)
[28] เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท
ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท2 ไม่เศร้าโศก
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก
เมื่อนั้น บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมเห็นคนพาลได้
เหมือนคนที่ยืนอยู่บนภูเขาเห็นคนที่ภาคพื้นได้ ฉะนั้น

6. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 2 รูป ดังนี้)
[29] ผู้มีปัญญาดี3 เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก4 ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัดวิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 2/85) และดู 2 คาถานี้เทียบใน สํ.ส. (แปล) 15/36/48
2 ปัญญาดุจปราสาท ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณอันบริสุทธิ์ (ขุ.ธ.อ. 2/87)
3 ผู้มีปัญญาดี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ (ขุ.ธ.อ. 2/89)
4 ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึงมีสติเต็มที่ (ขุ.ธ.อ. 2/89)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :33 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 9. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
7. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้)
[30] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ

8. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[31] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์1น้อยใหญ่ได้หมด
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น

9. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้)
[32] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่เสื่อม2 ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี 10 อย่าง คือ (1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน
(2) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (4) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(5) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (6) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (7) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป
(8) มานะ ความถือตัว (9) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (10) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. 2/106, ขุ.อิติ.อ. 34/121)
2 ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค
ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. 2/109 องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/37/367) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/37/60

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :34 }