เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] 6. ตัณหาสังขยสูตร
6. ตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา
[66] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะผู้กำลังนั่ง
คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
พระอริยบุคคลใดไม่มีราก1ไม่มีพื้นดิน2ไม่มีเถา3
จะมีใบ4แต่ที่ไหน
ใครเล่าควรจะติเตียนพระอริยบุคคลนั้น
ที่เป็นปราชญ์ พ้นจากเครื่องผูกแล้ว
พระอริยบุคคลนั้น แม้เทวดาก็ชื่นชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ
ตัณหาสังขยสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีราก หมายถึงไม่มีอวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.อุ.อ.66/397)
2 ไม่มีพื้นดิน หมายถึงไม่มีอาสวะ(กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน) นิวรณ์ (ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี)
และอโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการโดยแยบคาย) (ขุ.อุ.อ. 66/397)
3 ไม่มีเถา หมายถึงไม่มีมานะ (ถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่น) (ขุ.อุ.อ.67/397)
4 ใบ หมายถึงมทะ(ความมัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) มายา(มีมารยา) และสาเฐยยะ(ความโอ้อวดหลอกเขา)
(ขุ.อุ.อ. 66/398)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :315 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] 8. กัจจานสูตร
7. ปปัญจักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
[67] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาถึง
การละส่วนสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า1ของพระองค์อยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงการละส่วนสัญญาอันประกอบด้วย
กิเลสเครื่องเนิ่นช้าของพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้าและการดำรงอยู่ (ในสังสารวัฏ)
ก้าวพ้นที่ต่อ2และลิ่มสลัก3ได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ดูหมิ่นผู้นั้นซึ่งไม่มีตัณหา เป็นมุนี เที่ยวไป
ปปัญจักขยสูตรที่ 7 จบ

8. กัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ
[68] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อุ.อ. 67/399)
2 ที่ต่อ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. 67/400)
3 ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.อุ.อ. 67/400)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :316 }