เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 1. สามาวตีวัตถุ
2. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
1. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[21] ความไม่ประมาท1 เป็นทางแห่งอมตะ2
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว3
[22] บัณฑิตทราบความต่างกัน
ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น
แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท
ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย4
[23] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ5
มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ6

เชิงอรรถ :
1 ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. 2/60)
2 ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า
ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. 2/60)
3 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/332/588
4 ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น และโลกุตตร-
ธรรม 9 ประการ (ขุ.ธ.อ. 2/61)
5 เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี 2 อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง
อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ 8) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ขุ.ธ.อ.
2/61-65)
6 โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี 4 ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
2/62, ขุ.ธ.อ. 8/93,109, ขุ.อุ.อ. 19/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :31 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 4. พาลนักขัตตวัตถุ
2. กุมภโฆสกวัตถุ
เรื่องนายกุมภโฆสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าพิมพิสารและนายกุมภโฆสก ดังนี้)
[24] ยศ1 ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนทำ
สำรวม ดำรงชีวิตโดยธรรม และไม่ประมาท

3. จูฬปันถกวัตถุ
เรื่องพระจูฬปันถก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[25] คนมีปัญญาพึงทำที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง2
ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท
ด้วยการสำรวม และด้วยการฝึกฝน

4. พาลนักขัตตวัตถุ
เรื่องนักษัตรของคนพาล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[26] คนพาลมีปัญญาทราม ประกอบความประมาทอยู่เสมอ
ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ ความนับถือ ความมีเกียรติ และการสรรเสริญ (ขุ.ธ.อ. 2/69)
2 ที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง หมายถึงอรหัตตผล ที่น้ำ คือ โอฆะ 4 (กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ท่วมไม่ถึง
(ขุ.ธ.อ. 2/83)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :32 }