เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 8. คณิกาสูตร
พุทธอุทาน
สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่และสิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป1
สิ่งทั้งสองนั้นเจือด้วยธุลีคือราคะเป็นต้นแก่ผู้ทุรนทุรายใฝ่ใจอยากได้รับอยู่
สมณพราหมณ์ผู้มีสิกขาอันเป็นสาระ
คือศีล วัตร ชีวิต พรหมจรรย์ และการบำบวงอันเป็นสาระ2
นี้เป็นส่วนสุดที่ 1
สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า
‘โทษในกามไม่มี’ นี้เป็นส่วนสุดที่ 2
ส่วนสุดทั้งสองนี้ มีแต่จะเพิ่มตัณหาและอวิชชาให้มากขึ้น
ตัณหาและอวิชชาย่อมก่อให้เกิดความเห็นผิดมากขึ้น
สมณพราหมณ์ทั้งหลายไม่รู้ส่วนสุดทั้งสองนั้น
บางพวกก็จมติดอยู่ บางพวกก็แล่นไป3
ส่วนพระอริยะทั้งหลายได้รู้แจ้งส่วนสุดทั้งสองนั้น
จึงไม่ตกไปในส่วนสุดทั้งสองนั้น
และเพราะละส่วนสุดทั้งสองนั้นได้
จึงไม่สำคัญตนด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ
ย่อมไม่มีวัฏฏะปรากฏ4
คณิกาสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่ มีความหมาย 2 นัย คือ (1) หมายถึงกามคุณ 5 ประการ ที่บุคคลเสวยด้วยความ
ยึดมั่นว่า โทษในกามคุณ 5 ไม่มี (กามสุขัลลิกานุโยค) (2) หมายถึงการทำตนให้เดือดร้อนด้วยการ
ประพฤติวัตรอย่างนักบวชเปลือย(อัตตกิลมถานุโยค) สิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป มีความหมาย
2 นัย เช่นเดียวกัน คือ (1) หมายถึงกามคุณ 5 ที่บุคคลมุ่งหวังที่จะได้รับด้วยความเชื่อว่าเมื่อได้รับแล้ว
ถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่(กามสุขัลลิกานุโยค) (2) หมายถึงผลที่จะพึงได้รับในอบาย เพราะการทำกรรมตาม
ความเห็นผิดเป็นเหตุ(อัตตกิลมถานุโยค) (ขุ.อุ.อ. 58/375-377)
2 ในที่นี้ ศีล หมายถึงข้อที่บุคคลงดเว้น ไม่ทำ วัตร หมายถึงการประพฤติอย่างลำบาก ชีวิต หมายถึงการ
ดำเนินชีวิตอย่างฝืดเคือง เช่น การเป็นอยู่ด้วยการบริโภคผักเป็นอาหาร พรหมจรรย์ หมายถึงเมถุนวิรัติ
การบำบวง หมายถึงการบนบานเซ่นสรวงบูชา (ขุ.อุ.อ. 58/376)
3 ข้อความตอนนี้มีความหมาย 3 นัย คือ นัยที่ 1 หมายถึงบางพวกจมติดอยู่ในกามสุข(กามสุขัลลิกานุโยค)
บางพวกแล่นไป คือ มุ่งประกอบตนให้ลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) นัยที่ 2 หมายถึงบางพวกติดอยู่ด้วย
อำนาจตัณหา บางพวกแล่นไปในอำนาจทิฏฐิ นัยที่ 3 หมายถึงบางพวกติดอยู่ในสัสสตทิฏฐิ บางพวกแล่นไป
ในอำนาจอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. 58/378)
4 วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงกิเลส กรรม วิบาก (ขุ.อุ.อ. 58/379)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :305 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 9. อุปาติธาวันติสูตร
9. อุปาติธาวันติสูตร
ว่าด้วยแมลงบินเข้าไฟ
[59] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในความมืดมิดแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคประทับ
นั่งในที่แจ้ง มีประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่
ขณะนั้น แมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์
ความพินาศย่อยยับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นแมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีป
น้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์ ความพินาศย่อยยับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งแล่นเลยไป1
ไม่บรรลุธรรมที่เป็นสาระ2
ชื่อว่าพอกพูนเครื่องพันธนาการ3ใหม่ ๆ ยิ่งขึ้น
ยึดมั่นในสิ่งที่ตนได้เห็นแล้วและฟังแล้วอย่างนี้
จึงตกสู่หลุมถ่านเพลิง4ตลอดไป
เหมือนแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมันฉะนั้น
อุปาติธาวันติสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 แล่นเลยไป หมายถึงยึดถือขันธ์ 5 ว่าเที่ยง งาม เป็นสุข และเป็นอัตตา (ขุ.อุ.อ. 59/382)
2 ธรรมที่เป็นสาระ หมายถึงศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 59/382)
3 เครื่องพันธนาการ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. 59/382)
4 หลุมถ่านเพลิง ในที่นี้หมายถึงภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.อุ.อ. 59/382)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :306 }