เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 7. สุภูติสูตร
7. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระสุภูติเถระ
[57] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสุภูตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิ
ที่ไม่มีวิตก1อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสุภูติผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
เข้าสมาธิที่ไม่มีวิตกอยู่ในที่ไม่ไกล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้กำจัดวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดภายในตนได้ด้วยดี
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง2ได้ เป็นผู้มีอรูปสัญญา3
ละโยคะ 4 ประการ4 ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดอีกต่อไป
สุภูติสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 สมาธิที่ไม่มีวิตก ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลสมาธิที่มีฌานที่ 4 เป็นพื้นฐาน (ขุ.อุ.อ. 57/373)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 149 ในเล่มนี้
3 เป็นผู้มีอรูปสัญญา หมายถึงยึดเอานิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. 57/374)
4 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :303 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 8. คณิกาสูตร
8. คณิกาสูตร
ว่าด้วยหญิงโสเภณี
[58] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีนักเลง 2 พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีใน
หญิงโสเภณีคนหนึ่ง เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง
ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้น
ถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ-
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในกรุงราชคฤห์
มีนักเลง 2 พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีในหญิงโสเภณีคนหนึ่งเกิดการบาดหมางกัน
ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง
ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้นถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์
ปางตายบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว1 จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว” นี้หมายถึงทรงทราบว่าความกำหนัดติดใจในกามทั้งหลายเป็นมูล
เหตุแห่งความพินาศทั้งหลายทั้งปวง จึงทรงเปล่งอุทานเพื่อแสดงให้เห็นโทษในข้อปฏิบัติที่สุดโต่งทั้ง 2 ประการ
(คือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค) และเพื่อแสดงให้เห็นอานิสงส์แห่งข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง
(มัชฌิมาปฏิปทา) (ขุ.อุ.อ. 58/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :304 }