เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 6. ตติยนานาติตถิยสูตร
พุทธอุทาน
หมู่สัตว์นี้ คือพวกที่ถือทิฏฐิว่า เราเป็นตัวการ1
พวกที่ถือทิฏฐิว่า ผู้อื่นเป็นตัวการ
และสมณพราหมณ์พวกหนึ่งที่ไม่คล้อยตามทิฏฐิทั้งสองนี้2
ไม่เห็นทิฏฐินั้นว่า ‘เป็นเหมือนลูกศร’
แต่สำหรับผู้ใช้ปัญญาพิจารณาจนรู้แจ้งว่า
ทิฏฐินั้นเป็นเหมือนลูกศร
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “เราสร้าง”
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “ผู้อื่นสร้าง”
หมู่สัตว์นี้มีมานะ ถูกมานะร้อยรัด
ถูกมานะผูกพันไว้ ชอบกล่าวถกเถียงกันในเรื่องทิฏฐิ
จึงไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้
ตติยนานาติตถิยสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 เราเป็นตัวการ แปลจากบาลีว่า ‘อหังการ’ ในที่นี้หมายถึงลัทธิสยังการหรือสยังกตา (ลัทธิสยังการหรือ
สยังกตานี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลัทธิอัตตการ) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่าตนเป็นตัวการคือเป็นผู้สร้างอัตตาและ
โลกขึ้นเอง (ขุ.อุ.อ. 56/371)
2 หมายถึงพวกอธิจจสมุปปันนวาท คือลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง มิได้อาศัยเหตุอะไร เป็นลัทธิ
ปฏิเสธทั้งลัทธิสยังการ และลัทธิปรังการ(ผู้อื่นเป็นตัวการ) พวกอธิจจสมุปปันนวาทนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
อเหตุกวาท (ขุ.อุ.อ. 55/370, 56/371-372) และดู สํ.นิ. 16/17/19, สํ.นิ.อ. 2/17/40 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :302 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 7. สุภูติสูตร
7. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระสุภูติเถระ
[57] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสุภูตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิ
ที่ไม่มีวิตก1อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสุภูติผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
เข้าสมาธิที่ไม่มีวิตกอยู่ในที่ไม่ไกล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้กำจัดวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดภายในตนได้ด้วยดี
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง2ได้ เป็นผู้มีอรูปสัญญา3
ละโยคะ 4 ประการ4 ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดอีกต่อไป
สุภูติสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 สมาธิที่ไม่มีวิตก ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลสมาธิที่มีฌานที่ 4 เป็นพื้นฐาน (ขุ.อุ.อ. 57/373)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 149 ในเล่มนี้
3 เป็นผู้มีอรูปสัญญา หมายถึงยึดเอานิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. 57/374)
4 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 31 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :303 }