เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 4. ปฐมนานาติตถิยสูตร
5. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
6. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
7. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
8. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
9. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
10. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่า
นั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ1 จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้’

เชิงอรรถ :
1 จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.อุ.อ.54/365)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :291 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 4. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้เอง มีพระราชาพระองค์หนึ่ง
รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม เจ้าจงไป จงบอกให้คนตาบอดทั้งหมด
ในกรุงสาวัตถีมาประชุมร่วมกัน’ บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พาคนตาบอด
ทั้งหมดในกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายในกรุงสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระเจ้าข้า’ พระราชา
ตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแสดงช้าง1แก่คนตาบอดทั้งหลายเถิด’ บุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลาย คือ แสดงหัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหูช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงาช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงวงช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงตัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงเท้าช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้‘แสดงระหว่างขาอ่อนช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงขนหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย
บุรุษนั้นครั้นแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลายแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น
ถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายเห็นช้างแล้ว2
พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปหาคนตาบอดเหล่านั้น
ได้ตรัสกับคนตาบอดทั้งหลายดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกท่านเห็นช้างแล้วหรือ’

เชิงอรรถ :
1 แสดงช้าง หมายถึงนำช้างมาแล้วให้ช้างนอนลงโดยให้คนตาบอดคลำดูแต่ละส่วน (ขุ.อุ.อ. 54/367)
2 เห็นช้าง ในที่นี้หมายถึงคนตาบอดใช้มือจับต้อง ลูบคลำช้าง เหมือนเห็นด้วยตา (ขุ.อุ.อ. 54/367)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :292 }